เรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้าเป็นวรรณกรรมการเมืองร่วมสมัย เป็นวรรณกรรมการเมืองที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ขององค์กรภาครัฐ คือ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จุดมุ่งหมายของการประกวดรางวัลพานแว่นฟ้า คือ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยผ่านศิลปะการประพันธ์เรื่องสั้นและบทกวี รวมถึงเพื่อสนับสนุนยกย่องผลงานวรรณกรรมไทยที่ทรงคุณค่าให้พัฒนาไปพร้อมกับสำนึกความเป็นพลเมืองในระบบประชาธิปไตย และเพื่อเป็นการเสริมสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีของประชาชนในชาติ
   เรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้ามีการจัดประกวดในทุก ๆ ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ดังนั้น เรื่องราวและเหตุการณ์ที่ปรากฏในตัวบทของวรรณกรรม จึงเป็นการบันทึกเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน เรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้าจึงสะท้อนแนวคิดทางสังคมและการเมืองของประชาชน (ผู้เขียน) สู่ประชาชน (ผู้อ่าน) ทั้งนี้เรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้ามักนำเสนอในลักษณะของเรื่องสั้นแนวสัจนิยม ดังนั้นการประกอบสร้างตัวละครในเรื่องสั้นมักสร้างตัวละครเป็นบุคคลทั่วไป โดยตัวละครเอกเป็นชนชั้นกลาง มีหลากหลายอาชีพ เช่น อาสาสมัครกู้ภัย ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย หมอ นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ชาวบ้านในหมู่บ้านจัดสรร ชาวบ้านในท้องที่ อาจารย์มหาวิทยาลัย เด็กนักเรียนข้าราชการเกษียณ นักการเมือง ครู นักศึกษา เกษตรกร ชาวบ้าน ข้าราชการ เป็นต้น ซึ่งตัวละครเหล่านี้จะแสดงแนวคิดทางสังคมและการเมืองในลักษณะของผู้มีอำนาจ และผู้ตกอยู่ภายใต้อำนาจ
การใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์เพื่อแสดงแนวคิดทางสังคมและการเมือง
    ..เรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้า ปี พ.ศ.2559-2564 ที่บันทึกเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองหลังรัฐประหาร โดย คสช. ดังนั้นตัวบทเรื่องสั้นจึงปรากฏบริบททางสังคมและการเมืองในหลายมิติ เช่น การรัฐประหารยึดอำนาจโดย คสช. การประกาศกฎอัยการศึก การเรียกปรับทัศนคติในกลุ่มผู้เห็นต่าง การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อแดง การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย การเลือกตั้งปี 2562 โครงการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐปี 2559-2560 การเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น การรัฐประหารปี 2557 และการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน
     บริบททางด้านสังคมที่มักถูกหยิบใช้ประกอบเป็นโครงเรื่องหรือเหตุการณ์ในเรื่องสั้น มักเป็นบริบทเวลานั้น เช่น สถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 การประกาศนโยบายทวงคืนพื้นป่าของ คสช. ส่งผลให้เกิดการไล่ที่ชาวกะเหรี่ยงเพื่อประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ สภาพสังคมที่เศรษฐกิจตกต่ำ เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐรวมถึงผู้มีอำนาจ การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อสร้างที่พักอาศัยของข้าราชการ ปัญหาความไม่สงบของชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
     ผู้ประพันธ์แสดงแนวคิดทางสังคมและการเมืองผ่านกลวิธีทางวรรณศิลป์ในการสื่อแนวคิดผ่าน แก่นเรื่องความหมายหรือสัญลักษณ์ โดยเฉพาะการตีแผ่การใช้มายาคติและวาทกรรมของฝ่ายต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของกลุ่ม เช่น การสร้างมายาคติบางประการทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสังคม อาทิ ความขัดแย้งในสังคม การคอร์รัปชันและการใช้มายาคติเพื่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การอธิบายลักษณะของประชาธิปไตยและการใช้มายาคติเกี่ยวกับประชาธิปไตยเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม การใช้อำนาจเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ และการปรับโครงสร้างทางสังคมให้สงบสุขในทัศนะของผู้มีอำนาจ โดยการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางความคิดของประชาชน
 การแสดงแนวคิดทางสังคมในมิติของประชาชนปรากฏในลักษณะของความต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย กล่าวถึงประชาธิปไตยในอุดมคติตามทัศนะของประชาชน การอธิบายลักษณะความเป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยและปลูกฝังความเป็นพลเมืองดีผ่านตัวละครในเรื่องสั้น การแสดงทัศนะเชิงเสนอแนะให้สังคมสงบสุขอย่างสันติวิธี การประกอบสร้างแนวคิดทางสังคมของเรื่องสั้นมักสร้างความขัดแย้ง หรือโครงเรื่องหลักที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม
เรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้ากับปฏิบัติการทางวาทกรรม
     เรื่องสั้นรางวัลฟ้าปรากฏการใช้วาทกรรมทางการเมือง เพื่อการปลูกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตยให้กับพลเมือง คือ วาทกรรม “ประชาธิปไตย” และ “พลเมืองดี” ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติตนในสังคมและมีอิทธิพลในการหล่อหลอมความคิดของคน ประชาธิปไตยถูกนำเสนอในความหมายของสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ดังนั้นตัวละครจึงใช้การแสดงออกของการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ซึ่งจุดจบของตัวละคร คือ ความพ่ายแพ้ ในขณะที่ฝ่ายผู้มีอำนาจใช้ปฏิบัติการวาทกรรมประชาธิปไตยในมิติของประชาธิปไตยคือความสงบเรียบร้อย เมื่อมีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลสามารถปราบปรามการชุมนุมประท้วงได้เพราะการชุมนุมประท้วงทำให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย ดังนั้นวาทกรรมประชาธิปไตยจึงกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการปราบปรามประชาชน และเป็นเครื่องมือของประชาชนในการลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล การเปรียบประชาธิปไตยในลักษณะเดียวกับต้นไม้ คือ สามารถ “ปลูก” ได้ เติบโตได้ หากแต่ต้นไม้ปลูกลงบนพื้นดิน แต่ประชาธิปไตยปลูกให้งอกงามได้ในใจคน
    การใช้วาทกรรมที่แสดงถึงประชาธิปไตยไม่เต็มใบ สื่อให้เห็นถึงการการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การใช้ความรุนแรง และความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยเฉพาะการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันของหน่วยงานภาครัฐกับประชาชน ปรากฏในแก่นเรื่องของเรื่องสั้นหลายเรื่อง เช่น เรื่องมือเย็น (รางวัลชนะเลิศ ปี 2564) ที่ใช้การตายของตัวละครพ่อเป็นภาพแทนความสูญเสียของผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริง ผู้ที่คาดหวังจะพบประชาธิปไตยเต็มใบ การประกอบสร้างให้คนเหล่านี้พบกับความตาย ตีความได้ว่าประชาธิปไตยเต็มใบคงไม่อาจเป็นไปได้ หากยังมีการใช้ความรุนแรง
  วาทกรรมประชาธิปไตยเกี่ยวกับประชาธิปไตยในมิติของการผลิตซ้ำความหมายเดิม คือ ความเป็นประชาธิปไตยต้องมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง (ถ้าไม่มีการเลือกตั้งคือไม่ใช่ประชาธิปไตย) และการสร้างวาทกรรมประชาธิปไตยในมิติของเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์นำไปสู่ความวุ่นวายและความขัดแย้งทางการเมืองของคนในสังคม
     วาทกรรมเกี่ยวกับความสงบสุขของสังคม คือ ความสงบและสันติภาพ เป็นการที่ประชาชนหวาดกลัวจนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ในขณะที่คนอีกกลุ่มยกย่องความเงียบว่าคือความสงบและสันติภาพ ประชาธิปไตยในมิตินี้จึงเป็นการให้ความหมายของประชาธิปไตยเฉพาะกลุ่ม
     วาทกรรมพลเมืองดี ความเป็นพลเมืองในระบบประชาธิปไตยที่ต้องมีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน และร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดี ให้ประชาธิปไตยที่มีเป็นประชาธิปไตยเต็มใบที่เคารพประชาชน เรื่อง ย้อนกลับไปดูภาพ VAR กันอีกครั้ง (รางวัลชมเชย ปี 2564) ความเคารพกฎกติกาโดยพยายามแสดงให้เห็นว่าความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องเคารพกฎ กติกา เรื่อง สะพานสองฝั่ง (รางวัลชมเชย ปี 2564) เน้นความเสมอภาคเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมีอย่างเท่าเทียมกันภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นต้น
     วาทกรรม “ขอคืนพื้นที่” ในการกวาดล้างและยุติการชุมนุม ซึ่งเมื่อพิจารณาความหมายของการขอคืนพื้นที่ แสดงให้เห็นการใช้มายาคติในลักษณะการขอร้อง เพื่อเป็นสัญญาณเตือนว่าจะมีการใช้ความรุนแรงในเวลาอันใกล้นี้ วาทกรรมประชาธิปไตยที่ถูกใช้โดยคนบางกลุ่มโดยกล่าวอ้างว่าเรียกร้องให้เคารพสิทธิ์ และเห็นแก่ส่วนรวม แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นเครื่องในการสร้างขัดแย้ง ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองไม่เกิดผลดีกับฝ่ายใด ภาครัฐใช้วาทกรรมเป็นเครื่องมือในการเอาเปรียบประชาชนโดยเฉพาะคนชายขอบ ผ่านคำว่า “นโยบาย” “กฎหมาย” ควบคู่ไปกับการใช้มายาคติในลักษณะการให้สวัสดิการ คือ การจัดสรรพื้นที่ จัดที่ดินทำกิน เพื่อเป็นลดกระแสต่อต้าน เช่น เรื่อง ดาวส่องเมือง (รางวัลชมเชย ปี 2561)
กลวิธีทางวรรณศิลป์กับการสร้างความหมายทางการเมือง
     จากการนำเสนอปฏิบัติการทางวาทกรรมดังกล่าวผ่านตัวละครและแก่นเรื่องที่ปรากฏนั้น ทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพจำลองของสังคมและการเมืองผ่านเรื่องสั้นและทำให้เกิดสติปัญญาในการรู้เท่าทันการใช้วาทกรรมและมายาคติเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รวมถึงแสดงความคาดหวังที่จะเห็นบ้านเมืองและสังคมมีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ เสนอแนะแนวทางปฏิบัติของชนชั้นปกครอง นักการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย รวมถึงแนวปฏิบัติของการเป็นพลเมืองดีภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และการแก้ปัญหาความขัดแย้งเพื่อสร้างความสงบสุขในสังคมด้วยความสามัคคี ทั้งนี้การใช้วาทกรรมดังกล่าวถูกปฏิบัติการผ่านตัวละครหลัก สัญลักษณ์ และโครงเรื่อง เพื่อสื่อความหมายแฝงให้กับผู้อ่านได้รู้เท่าทันปรากฏการณ์ทางการเมืองขององค์กรภาครัฐ นักการเมือง จากแนวคิดที่สื่อผ่านปฏิบัติการทางวาทกรรม การสร้างมายาคติ จะเห็นได้ว่าเรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้า ปี พ.ศ.2559-2564 มีความโดดเด่นในการประกอบสร้างกลวิธีทางวรรณศิลป์เพื่อสร้างความหมายทางการเมืองอย่างลุ่มลึกหลากหลายมิติผ่านงานวรรณกรรม ภายใต้จุดมุ่งหมายของการส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยและการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
     *องค์ความรู้นี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย เรื่อง “รางวัลพานแว่นฟ้า พ.ศ.2559 – 2564 : แนวคิดทางสังคมและการปลูกฝังอุดมการณ์ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยผ่านเรื่องสั้นร่วมสมัย” เผยแพร่ในการเสวนาวิชาการ “โปรดอยู่ในความสงบ” อุดมการณ์รัฐ ประชาธิปไตย และพลเมืองดีในเรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้า” เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565
กลวิธีทางวรรณศิลป์กับการสร้างความหมายทางการเมือง ในเรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้า พ.ศ.2559-2564